บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

สมาธิในพระไตรปิฎกฯ ๑

บทความนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า มีงานวิจัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งวิเคราะห์เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมตามสายวิชาธรรมกาย แต่การวิเคราะห์นั้น บกพร่อง  ผิดจากความจริง

เนื่องจากคนไทยนี้ มักจะเชื่อว่า งานวิจัยเป็น ความจริงผมจึงต้องมาเขียนไว้ให้รู้ว่า งานวิจัยจำนวนมาก ผลการวิเคราะห์หรือผลของการวิจัยก็ไม่เป็น ความจริงอย่างที่เชื่อๆ กัน และควรจะทราบไว้ว่า งานวิจัยนั้นไม่ได้น่าเชื่อถือไปทุกเรื่อง

แต่อย่างไรก็ดี ต้องขอบอกก่อนว่า ผมไม่ได้มีเจตนาจะมาโจมตีผู้ทำวิจัย หรือมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาผู้นั้นศึกษาอยู่ และ/หรืองานวิจัยที่จะนำมาวิเคราะห์วิจารณ์นี้ ผิดพลาดหมดทั้งเล่ม แต่ต้องการจะบอกเพียงแต่ว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาธรรมกายนั้น มันบกพร่อง เท่านั้น

ในการเขียนนั้น จะเขียนวิเคราะห์ไปทีละเล่ม และจะนำมาลงต่อๆ กันไป หรืออาจจะเป็นคนละส่วนเลยก็ได้

สำหรับเล่มแรกเป็นงานวิจัยเรื่อง สมาธิในพระไตรปิฎกวิวัฒนาการการตีคำสอนเรื่อง สมาธิในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศ  คณะผู้วิจัยก็คือ วริยา ชินวรรโณและคณะ

งานวิจัยเล่มนี้ ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ

งานวิจัยนี้ เมื่อเสร็จจากการทำวิจัยแล้วได้นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ ฉบับที่ผมนำมาวิเคราะห์นี้เป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 3

งานวิจัยชิ้นนี้ แบ่งการปฏิบัติธรรมที่สำคัญๆ ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 5 สายคือ
1) สายอานาปานนัสสติ
2) สายธุดงคกรรมฐาน
3) สายธรรมกาย
4) สายวัดมหาธาตุ
5) สายประยุกต์

จะเห็นว่า งานวิจัยชิ้นนี้ เห็นว่า สายวิชาธรรมกายเป็นสายปฏิบัติธรรมที่สำคัญสายหนึ่ง จึงนำมาวิเคราะห์ในการวิจัยครั้งนี้ด้วย

ในงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวถึงวิชาธรรมกายไว้ 3 ส่วน ดังนี้

ส่วนแรก
กล่าวไว้ในบทที่ 3 ที่ตั้งชื่อบทว่า วิวัฒนาการการตีความคำสอนเรื่องสมาธิในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศ ไทยส่วนที่มีความเกี่ยวข้องอยู่ในหัวข้อใหญ่ที่ว่า ครู-อาจารย์สอนสมาธิที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย

เนื้อหาในส่วนนี้ มีเพียงหน้ากว่าๆ คือ หน้าที่ 70-71

ส่วนที่สอง
สำหรับ ส่วนที่สอง อยู่ในบทที่ 6 ที่ตั้งชื่อบทว่า การตีความเรื่องสมาธิสายธรรมกายมีเนื้อหาตั้งแต่หน้า 313-350  เนื้อความส่วนนี้ จะเน้นถึงการสอนวิชาธรรมกายของวัดพระธรรมกาย ปทุมธานี เนื่องจากงานวิจัยนี้ ได้เลือกวัดพระธรรมกายเป็นกลุ่มตัวอย่าง

ส่วนที่สาม
สำหรับส่วนที่สามเป็นส่วนสรุป มีเนื้อหาสั้นๆ เพียงย่อหน้าเดียว เนื่องจากในส่วนสรุปนี้ต้องสรุปการปฏิบัติธรรมของประเทศไทยในภาพรวม

ในส่วนสรุปนั้น ไม่มีข้อผิดพลาดอันใดต่อสายวิชาธรรมกาย ส่วนที่มีข้อบกพร่องนั้น อยู่ในส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สอง ดังนี้

ข้อบกพร่องในส่วนที่หนึ่ง
ข้อบกพร่องร้ายแรงของงานวิจัยนี้  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาธรรมกายคือ ข้อความส่วนนี้ครับ

ขั้นปฏิบัติภาวนาของวัดพระธรรมกาย นี่เป็นเพียงขั้นสมถกรรมฐานยังไม่เป็นวิปัสสนากรรมฐาน การปฏิบัติเป็นการเพ่งกสิณ โดยผู้ปฏิบัตินึกว่า มีดวงแก้วหรือพระพุทธรูปอยู่ตรงกลางกายอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเกิดมีจุดสว่าง ณ ศูนย์กลางกายนี้เรียกว่า ดวงปฐมมรรค

ใจก็หยุดนิ่งอยู่กลางดวงนั้น เมื่อดวงนี้แตกไป ก็จะเกิดขึ้นใหม่เรียกว่า ดวงศีลเมื่อดวงศีลแตกไปก็เป็น ดวงสมาธิเมื่อดวงสมาธิแตกไปก็เป็น ดวงปัญญาจากดวงปัญญาแตกไปเป็น ดวงวิมุตติเมื่อดวงวิมุตติแตกไปก็จะเห็นอีกดวงหนึ่งเรียกว่า ดวงวิมุตติญาณทัสสนะหยุดกลางดวงวิมุตติญาณทัศนะนั้น พอถูกส่วนเข้าก็จะเห็น กายมนุษย์หยาบและเปลี่ยนเป็น กายมนุษย์ละเอียด

ถ้าปฏิบัติต่อไปก็จะถึง กายพระอรหันต์ละเอียดหลุดพ้นจากกิเลสหมด

ข้อความส่วนนี้คณะผู้วิจัยไปนำมาจากหนังสือเล่มนี้  ยงยุทธ วิริยายุทธังกูร. 2536. หลวงพ่อวัดปากน้ำกับอานุภาพวิชาธรรมกาย กรุงเทพมหานคร: เจริญวิทย์การพิมพ์ หน้า 176-181.

ข้อผิดพลาดประเด็นที่ 1
ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างละเอียดลออต่อไป ผมขอบอกว่า ข้อความที่คณะผู้วิจัยยกมาจากหนังสือของคุณยุงยุทธนั้น ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง 

คุณยงยุทธไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับวิชาธรรมกายเลยแม้แต่น้อย  ที่เขียนมานั้นผิดหมด อย่างหน้ามือเป็นหลังเท้าเลยทีเดียว

สิ่งที่ผมตะขิดตะขวงใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ ทำไมคณะผู้วิจัยจึงไปนำหนังสือของคุณยงยุทธมาอ้างอิงในงานวิจัยชิ้นนี้ และอ้างอยู่แค่ตรงนี้ ในส่วนของบทที่ 3 ไม่นำไปอ้างถึง

การกระทำในส่วนนี้ ผิดหลักของงานวิจัยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต้องพูดงานวิจัยก็ยังได้ คือ แค่เป็นการเขียนรายงานก็ไม่ถูกต้องแล้ว

เพราะอะไร?

เพราะว่า ในการเขียนงานทางวิชาการแล้ว ผู้เขียนจะต้องไปอ่านหนังสือของเอกสารชั้นต้นจริงๆ ไม่ควรอ้างจากเอกสารชั้นรอง

นอกจากนั้น หนังสือของคุณยุงยุทธนั้น เป็นหนังสือที่ไม่ได้มีคุณค่าในทางวิชาการแต่อย่างใด เป็นหนังสือในตลาดรองเสียด้วยซ้ำ คือ เป็นหนังสือราคาถูกในตลาดล่าง

คำว่า เอกสารชั้นรองที่กล่าวมานั้น ส่วนใหญ่หมายถึง งานวิชาการ แต่หนังสือของคุณยงยุทธ์อย่างที่บอกแล้ว ไม่ได้เข้าหลักวิชาการเลย คือ นับเป็นเอกสารชั้นรองก็ไม่ได้เลย

ทำไมคณะผู้วิจัยไปนำหนังสือเล่มนี้ มาอ้างอิงในงานวิจัยที่รับทุนจาก สกว. (สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ) ได้

แปลกพิลึก

ในทางที่ควรปฏิบัติแล้ว ในส่วนนี้ คณะผู้วิจัยจะต้องไปหาหนังสือของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาอ้างอิง แล้วหนังสือที่ว่านั้น ก็ไม่ได้หายาก ที่วัดปากน้ำก็มี วัดหลวงพ่อธรรมกายารามก็มี วัดสระเกตุก็มี ในเว็บไซต์ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ที่ผมมึนหนักขึ้นไปอีกก็คือ ในคณะของผู้วิจัยนั้น มีพระจากวัดพระธรรมกายเป็นผู้ร่วมวิจัยอยู่ด้วย คือ พระมหาสมศักดิ์ จันทสีโล

พระสมศักดิ์ยอมให้ข้อความนี้ออกมาได้อย่างไร หรือพระสมศักดิ์ก็ไม่รู้ว่า หนังสือของคุณยงยุทธนั้นเขียนผิด ซึ่งก็แสดงว่า บุคลากรของวัดพระธรรมกายก็ไม่รู้แล้วว่า วิชาธรรมกายที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น